• การฟอกสีฟัน

    Date: 2013.08.01 | Category: FAQ | Response: 0

  • เคลือบฟันเทียม (วีเนียร์)

    Date: 2013.08.01 | Category: FAQ | Response: 0

    เคลือบฟันเทียมวีเนียร์

    Q : เคลือบฟันเทียม คืออะไร ?

    A : เคลือบฟันเทียม คือ ผิวด้านหน้าของฟันที่สร้างขึ้นมาใหม่ ด้วยวัสดุประเภท พลาสติก หรือ เซรามิก เพื่อทดแทนผิวหน้าฟันจริง ที่อาจสูญเสียไป หรือ อาจมีสีไม่สวยงาม

    Q : เคลือบฟันเทียม มีกี่ชนิด? อะไรบ้าง?

    A : เคลือบฟันเทียม แบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ตามกระบวนการผลิตชิ้นเคลือบฟันเทียม ดังต่อไปนี้

    เคลือบฟันเทียมที่ทำโดยตรงในปาก (Direct Veneer)

    เคลือบฟันเทียมที่ทำนอกช่องปาก ในห้องปฏิบัติการ (Indirect Veneer)

    แต่หากแบ่งออกตามชนิดของวัสดุที่ใช้ทำเคลือบฟันเทียม สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ดังต่อไปนี้

    เคลือบฟันเทียมที่ทำจากพลาสติกเรซิน (Resin Composite Veneer)

    เคลือบฟันเทียมที่ทำจากเซรามิค (Ceramic Veneer)

    Q : แล้วชนิดไหนดีที่สุด ?

    A : หน้าที่ของเคลือบฟันเทียม ไม่ว่าจะเป็นการทำจากวัสดุใดก็ตาม หรือว่าจากกระบวนการใดๆ ก็ตาม ทั้งในปาก และนอกปาก ต่างก็ทำเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันทั้งนั้น แต่เนื่องจากวัสดุประเภทเซรามิคนั้นมีความสวยงามเป็นธรรมชาติ และแข็งแรงกว่าวัสดุประเภทเรซินพลาสติก ดังนั้น ในกรณีที่ต้องการความสวยงามแข็งแรงมาเป็นอันดับแรก ก็ย่อมควรเลือกเคลือบฟันเทียมประเภทเซรามิค แต่ก็มีราคาสูงกว่าวัสดุประเภทพลาสติก และยังใช้เวลาในการทำเป็นจำนวนครั้งที่มากกว่า เพราะต้องมีขั้นตอนของกระบวนการทางห้องปฏิบัติการด้วย ในขณะที่วัสดุประเภทพลาสติกนั้น สามารถทำได้โดยตรงในช่องปากเลย ซึ่งสามารถทำให้เสร็จได้ในครั้งเดียว ดังนั้น หากต้องการความสวยงามระดับหนึ่ง แต่ต้องการราคาที่ไม่แพงนัก และมีเวลาจำกัด ก็อาจพิจารณาเลือกใช้วัสดุประเภทพลาสติกได้

    อนึ่ง วัสดุประเภทพลาสติก หากต้องการเรื่องของความแข็งแรงและความสวยงามที่มากขึ้นกว่าการทำโดยตรงในปาก ก็อาจพิจารณาเลือกชนิดของวัสดุที่ทำผ่านกระบวนการทำห้องปฏิบัติการได้ แต่คุณสมบัติเรื่องของความสวยงาม ความแข็งแรง แม้จะมีมากกว่าการทำโดยตรงในช่องปาก แต่ก็ยังไม่สามารถเทียบเท่ากับวัสดุประเภทเซรามิคอยู่ดี

  • รากฟันเทียม (Dental Implants)

    Date: 2013.08.01 | Category: FAQ | Response: 0

    Q :  รากฟันเทียม คืออะไร ?

    A: ชนิดต่างๆ ของรากฟันเทียม

    ชนิดของรากเทียม

    รากฟันเทียม ทำมาจากวัสดุที่เข้ากันได้ดีกับร่างกายของเรา ใช้ทดแทนฟันที่หายไปได้ทั้งส่วนของรากและส่วนตัวฟัน รากฟันเทียมโดยทั่วไปในยุคปัจจุบันมักเป็นเกลียวหรือทรงกระบอกที่ทำมาจากโลหะไทเทเนียม

    ไทเทเนียมเป็นโลหะที่พิเศษ กล่าวคือ มันจะยึดตึดกับกระดูกโดยไม่มีชั้นใดๆ มาขวางกั้น การที่ไทเทเนียมยึดแน่นกับกระดูกนี้ เรียกกันว่า osseo integration ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของไทเทเนียมคือ มันจะไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ ร่างกายยอมรับได้ดี ไม่มีการอักเสบของเนื้อเยื่อช่องปาก และเพราะคุณสมบัติที่เข้ากันได้ดีกับเนื้อเยื่อในร่างกายมนุษย์ จึงมีการใช้ไทเทเนียมกันอย่างกว้างขวางในทางการแพทย์ เช่น การฝังเข้าไปในสะโพก หัวเข่า ฯลฯ

    โดยทั่วไปแล้ว รากฟันเทียมจะมีความยาวตั้งแต่ 6–15 มิลลิเมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3-5 มิลลิเมตร ปัจจุบัน มีหลากหลายบริษัทผู้ผลิตรากฟันเทียม แต่มีเพียงไม่กี่ระบบที่มีผลการศึกษาและวิจัยถึงผลการใช้งานในระยะยาว

    Q: ใส่รากฟันเทียมอย่างไร ?

    A: ต้องมีการวางแผนการรักษาที่ดีและครอบคลุมก่อนในขั้นแรก ภาพถ่ายรังสีและแบบจำลองฟันที่ได้จากการพิมพ์ปากจะเป็นตัวช่วยที่ดีในการประเมินปริมาณกระดูกในแง่ของความกว้างและลึก ดังนั้น จะสามารถวางแผนสำหรับเลือกขนาดของรากฟันเทียมที่เหมาะสมได้


    การทำรากฟันเทียม เป็นกระบวนการทางศัลยกรรมที่ทำภายใต้ภาวะปลอดเชื้อ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 45-90 นาที โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ จึงไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม กระบวนการนี้อาจก่อให้เกิดความเครียดต่อคนไข้ได้ การใช้ก๊าซ ไนตรัสออกไซด์ (ก๊าซหัวเราะ) หรืออาจเป็นยาสงบประสาท อาจถูกนำมาใช้ได้ในบางกรณี ซึ่งจะช่วยให้คนไข้รู้สึกผ่อนคลายและสบายขึ้นในการทำรากฟันเทียมที่ยุ่งยากซับซ้อนขึ้น เช่น ในกรณีที่มีการเติมปริมาณกระดูก อาจพิจารณาใช้การดมยาสลบสำหรับคนที่กลัวการทำฟันมากๆ ได้ โดยจะต้องอาศัยบุคคลากรที่ชำนาญการโดยเฉพาะ

    เมื่อเหงือกและเนื้อเยื่อหมดความรู้สึก (ชา) ทันตแพทย์ก็จะเปิดเหงือออกอย่างระมัดระวัง แล้วกรอกระดูกจนมีขนาดพอเหมาะกับรากฟันเทียมที่เลือกไว้ แล้วใส่รากฟันเทียม (เฉพาะในส่วนของราก) ลงไป จากนั้น ก็จะเย็บปิดเหงือกด้านบนเอาไว้ รอเวลาให้แผลหาย โดยในระหว่างนี้ อาจมีฟันปลอมให้ใช้งานไปก่อนได้ แล้วแต่กรณี

    ถึงเวลาใส่ฟันลงไปบนรากฟันเทียม

    เมื่อถึงเวลาที่รากฟันเทียมเฉพาะในส่วนของรากเชื่อมติดแน่นดีกับกระดูกโดยรอบ ซึ่งมักใช้เวลาประมาณ 6-12 สัปดาห์ ทันตแพทย์ก็จะเปิดเหงือกออกมาอีกครั้ง เพื่อใส่ฟันลงไปบนรากฟันเทียมที่อยู่ภายในกระดูกแล้ว ซึ่งอาจใช้วิธีปกติ หรือใช้เลเซอร์ก็ได้ กระบวนการใส่ฟัน จะประกอบไปด้วยการพิมพ์ปาก ส่งงานไปแล็บ แล้วเมื่อได้ชิ้นงานฟันปลอม ก็จะนำมาใส่ลงไปบนรากฟันเทียมนั้นๆ ได้เลย


  • การจัดฟัน

    Date: 2013.08.01 | Category: FAQ | Response: 0

    การถอนฟันเพื่อการจัดฟัน

    Q : การจัดฟันต้องมีการถอนฟันทุกครั้งหรือไม่?

    A : โดยทั่วไปแล้ว การจัดฟันจำเป็นต้องมีการเคลื่อนตัวของฟัน หากในช่องปากไม่มีเนื้อที่พอให้ฟันเคลื่อนที่ไปได้ เช่นในกรณีฟันซ้อนเบียดตัวกัน ก็จำเป็นจะต้องมีการเพิ่มเนื้อที่เพื่อให้ฟันสามารถเคลื่อนที่ไปได้ ซึ่งอาจใช้การถอนฟัน หรืออาจเป็นการกรอลดขนาดของฟันลงเล็กน้อยก็ได้ แต่หากในช่องปากมีเนื้อที่มากพออยู่แล้ว เช่น เคยมีการถอนฟันไปแล้ว หรือฟันห่างอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องถอนฟันออกก็เป็นได้

    Q : แล้วถ้ามีฟันคุดล่ะ ต้องเอาออกก่อนจะจัดฟันด้วยหรือไม่ หรือว่าเอาออกทีหลังได้ ?

    A : ฟันคุด เป็นฟันที่ทันตแพทย์ไม่แนะนำให้เก็บเอาไว้อยู่แล้ว ดังนั้น ถึงแม้ไม่ได้จัดฟัน ก็แนะนำให้เอาฟันคุดออก ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลรักษาสุขภาพช่องปาก แต่ความจำเป็นที่จะเอาฟันคุดออกก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ สภาพฟันและเหงือก ฯลฯ ซึ่งทันตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเป็นรายๆ ไป

    การดูแลรักษาสุขภาพช่องปากในคนที่มีเครื่องมือจัดฟันอยู่จะยุ่งยากกว่าปกติที่ไม่มีเครื่องมือ ดังนั้น หากพบว่ามีฟันคุดที่ยากต่อการดูแลทำความสะอาด ก็มักจะได้รับคำแนะนำให้เอาออก ทั้งนี้ มิใช่เพื่อการจัดฟัน แต่เพื่อการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากที่ดีขึ้นนั่นเอง แต่หากพบว่า ฟันคุดนั้นๆ มีทิศทางการงอกที่จะดันฟันที่เหลืออยู่ให้เคลื่อนที่ไป การเอาฟันคุดออกก่อน หรืออย่างน้อย ระหว่าง การจัดฟัน ก็น่าจะเป็นสิ่งที่พึงกระทำ เพราะหากไม่เอาฟันคุดออก หลังจัดฟันเรียบร้อย ก็มีโอกาสฟันเคลื่อนตัวไปจากตำแหน่งที่ต้องการ เกิดปัญหาฟันบิด ซ้อนเกกลับมาอีกได้ ทำให้ต้องกลับมาจัดฟันกันใหม่อีกรอบ ซึ่งการรักษาก็อาจยุ่งยากซับซ้อนขึ้นกว่าเก่า แต่ทั้งนี้ การใส่เครื่องมือคงสภาพฟัน (Retainers)

    ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะช่วยให้ฟันอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการได้ แม้จะยังคงมีฟันคุด ก็จะช่วยให้การกลับไปซ้อนเก เกิดขึ้นได้ยากขึ้น แต่ในที่สุดแล้ว ก็แนะนำให้เอาฟันคุดออก หากทิศทางของฟันคุดนั้น มีโอกาสจะดันฟันอื่นๆ ให้เคลื่อนได้

    Q :    อะไรทำให้ฟันเรียงตัวไม่ดี ?

    A :   โดยธรรมชาติแล้ว ฟันคนเราจะงอกขึ้นมาในช่องปากด้วยแรงที่มีอยู่ตามธรรมชาติของหน่อฟัน หากมีสิ่งกีดขวางการงอก ฟันก็จะงอกในตำแหน่งที่ธรรมชาติกำหนดไว้ไม่ได้ แต่จะพยายามหาทางเบี่ยงตัวเองออกไปด้านข้างเคียง เพื่อที่จะงอกขึ้นมาในช่องปากให้ได้

    โดยทั่วไปแล้ว ฟันแท้ส่วนมากมักจะงอกขึ้นมาแทนที่ฟันน้ำนม ซึ่งรากของฟันน้ำนมจะละลายไป เนื่องจากถูกแรงดันขณะที่ฟันแท้งอกขึ้นมา ทำให้ฟันน้ำนมโยก และหลุดออกมาได้เองในที่สุด หากฟันน้ำนมไม่หลุด ฟันแท้ก็จะงอกซ้อนฟันน้ำนม อาจเป็นเหตุให้เกิดฟันซ้อนเกได้ในอนาคต

    ในคนที่สูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนเวลาอันควร เช่น ฟันผุมากจนต้องถอนออก ฟันแท้ข้างใต้จะไม่มีแนวทางให้ฟันขึ้น ก็อาจนำไปสู่การบิดเก หรืองอกไม่ตรงแนวได้ ส่วนฟันที่อยู่ข้างเคียงก็อาจงอกเอียงเข้ามา ทำให้เนื้อที่สำหรับฟันแท้แคบลง ที่ไม่พอให้ฟันขึ้น ก็ทำให้ฟันแท้งอกบิด ซ้อนเก วิธีป้องกัน ก็คือ ควรใส่เครื่องมือกันที่

    (Space Maintainer) เพื่อป้องกันฟันล้ม รอจนกระทั่งใกล้เวลาฟันแท้งอก ค่อยถอดเครื่องมือออก

  • การเตรียมตัวก่อนการจัดฟัน

    Date: 2013.06.23 | Category: จัดฟัน, บทความทันตกรรม | Response: 0

  • ลูมีเนียร์ (Lumineers)

    Date: 2013.06.13 | Category: ทันตกรรมเพื่อความสวยงาม, บทความทันตกรรม | Response: 0

    ลูมีเนียร์ (Lumineers)


    Lumineers

    เคลือบฟันเทียมลูมิเนียร์ LUMINEERS™ หรือเคลือบฟันเทียมชนิดบาง ทำมาจากเซอริเนทพอร์ซเลน (Cerinate Porcelain) ซึ่งแข็งแรงกว่าพอร์ซเลนซึ่งใช้ทำเคลือบฟันเทียมทั่วไป จึงสามารถทำให้มีความบางได้จนใกล้เคียงกับคอนแทคเลนส์ (0.2 มม.) แต่ยังคงความแข็งแรงเท่ากับเคลือบฟันเทียมชนิดปกติ และมีอายุการใช้งานเฉลี่ยก็ยาวนานถึง 20 ปี

    ข้อดีของเคลือบฟันเทียมลูมิเนียร์ LUMINEERS™ ก็คือไม่ต้องกรอฟันธรรมชาติ หากในอนาคตต้องการกลับไปมีรอยยิ้มแบบเดิมก่อนทำลูมิเนียร์ LUMINEERS™ ก็สามารถเอาออกโดยง่ายโดยที่ผิวฟันธรรมชาติก็ยังเหมือนเดิม หากจำเป็นต้องมีการกรอฟันในบางรายก็จะกรอแต่งแค่ชั้นของผิวเคลือบฟันเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ลูมิเนียร์ LUMINEERS™ ยังสามารถใช้ติดเพื่อปกปิดวัสดุบูรณะฟันชนิดอื่นๆเช่นวัสดุอุดฟัน หรือครอบฟันเก่าๆที่ดูไม่สวย ที่มีรอยร้าว รอยบิ่น หรือสีเปลี่ยนได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องรื้ออุดใหม่หรือทำครอบฟันใหม่ แต่ทั้งนี้วัสดุอุดฟันหรือครอบฟันดังกล่าวต้องอยู่ในสภาพดีไม่มีรอยรั่วตามขอบ หรือรอยผุข้างใต้


    ลูมีเนียร์ (Lumineers)

    ข้อดีของเคลือบฟันเทียมลูมิเนียร์ LUMINEERS™

    ผิวหน้าฟันที่แข็งแรงไม่ถูกกรอ ออกไป

    – ไม่ต้องฉีดยาชา ไม่ต้องกรอฟัน ไม่เจ็บ*

    – ปลอดภัยสำหรับรายที่เสียวฟันง่าย


    Lumineers

    ประเภทของการเคลือบผิวฟันหรือวีเนียร์

    การเคลือบผิวฟันจากวัสดุคอมโพสิทเรซิน เป็นวิธีการรักษาที่ง่ายและสามารถทำให้สำเร็จได้ภายในการรักษาครั้งเดียว

    การเคลือบผิวฟันจากวัสดุเซรามิก เป็นวิธีการรักษาในกรณีที่มีความผิดปกติมากและขนาดใหญ่ และวัสดุนี้มีความแข็งแรงทนทานสูงกว่า

    ขั้นตอนการรักษา การทำฟันลูมิเนียร์วีเนียร์

    ทันตะแพทย์จะตรวจวินิจฉัยฟันก่อน รวมถึงแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมเพื่อให้เหมาะกับความต้องการของคนไข้

    กรอฟันและแต่งฟันก่อนเข้ารับการรักษา

    พิมพ์ฟันเพื่อทำแบบจำลอง

    ส่งแบบจำลองไปทำชิ้นส่วนลูมิเนียร์วีเนียร์

    ติดยึดเซรามิกบนผิวฟัน พร้อมฉายแสงรังสี เพื่อเพิ่มความแข็งแรง พร้อมตรวจเช็คและปรับแต่งให้เหมาะสม

  • ศัลยกรรมช่องปาก

    Date: 2013.06.13 | Category: บทความทันตกรรม, ศัลยกรรมช่องปาก | Response: 0

    ศัลยศาสตร์ช่องปาก Oral Surgery


    ศัลยศาสตร์ช่องปาก

    ศัลยศาสตร์ช่องปาก Oral Surgery

    ศัลยกรรมช่องปากเป็นวิธีการรักษาทางทันตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัด ซึ่งทันตแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัย และการวางแผนการรักษาก่อนที่จะเริ่มการรักษา โดยศัลยกรรมช่องปากประกอบด้วย

    1. การผ่าตัดเพื่อผ่าฟันคุด

    2. การถอนฟัน

    3. การผ่าตัดเพื่อปลูกถ่ายกระดูก

    4. การปรับตำแหน่งขากรรไกรล่าง (Mandibular setback/advancement)

    5. การผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติของกระดูกขากรรไกร (Surgical correction of jaw excess/deficiency)

    6. ศัลยกรรมปลูกกระดูกวิธี Sinus Lift

    การบูรณะฟันบริเวณฟันหลังของขากรรไกรบนด้วยรากเทียม มีข้อพิจารณาสำคัญอยู่ที่การละลายตัวของกระดูกรองรับฟันจากการที่สูญเสียฟัน ไป ทำให้เกิดปัญหาต่อการปลูกรากเทียมในบริเวณขากรรไกรบนเนื่องจากขาดกระดูกใน การรองรับรากเทียม จึงต้องทำการเสริมกระดูกก่อนที่จะผ่าตัดฝังรากเทียมด้วยวัสดุเสริมกระดูก อาทิเช่น กระดูกของผู้เข้ารับการรักษาเอง, กระดูกมนุษย์, กระดูกสัตว์ หรือกระดูกสังเคราะห์ โดยการเสริมกระดูกสามารถทำได้ทั้งในแนวกว้าง, แนวสูง และการปลูกกระดูกในบริเวณพื้นโพรงอากาศแม็กซิลลา โดยการผ่าตัดเพื่อฝังรากเทียมในบริเวณกระดูกขากรรไกรบนด้านหลังนี้ จำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ มีทักษะ ความรู้ ความสามารถ ในการวางแผน วินิจฉัยการรักษา รวมทั้งเทคนิคต่างๆในการผ่าตัดเสริมกระดูกในบริเวณนี้เป็นอย่างดี

    การถอนฟัน


    การถอนฟัน

    ขั้นตอนการถอนฟัน

    1. ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัย

    2. ทันตแพทย์จะทำการตรวจในช่องปากและพิจารณาถึงความจำเป็นในการถอนฟัน

    3. ในบางกรณีการถ่ายเอ๊กซเรย์อาจมีความจำเป็นเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาซึ่งสามารถบอกสภาพฟัน รากฟันและกระดูกรองรับฟันได้


    x-ray

    x-ray ฟิล์มใหญ่

    ทันตแพทย์จะทำการจดบันทึกข้อมูลและประวัติด้านสุขภาพของผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยควรให้ข้อมูลด้านสุขภาพของตนที่ถูกต้องและครบถ้วน โดยเฉพาะปัญหาที่เคยเกิดขึ้นเมื่อได้รับการถอนฟัน ปัญหาการหยุดไหลของเลือด ปัญหาสุขภาพเช่นโรคตับ และโรคเบาหวาน และการแพ้อาหารและยาประเภทต่างๆ เป็นต้น

    การเตรียมบริเวณฟันที่จะได้รับการถอน

    ทันตแพทย์จะทำการฉีดยาชาบริเวณที่จะทำการถอนฟัน

    เริ่มการถอนฟัน

    ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการดูแลรักษาหลังการถอนฟัน

    หลังการถอนฟัน ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ทันที เลือดจะหยุดไหลภายในเวลาสั้นๆ และแผลจะสามารถสมานตัวได้เอง แต่การดูแลรักษาความสะอาดยังคงมีความสำคัญเพื่อหลีกเลี่ยงการอักเสบติดเชื้อบริเวณแผลได้ และควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากๆ หรือการอยู่กลางแจ้ง

    ฟันคุด

    การถอนฟันคุด

    ฟันคุดที่ไม่ขึ้น ขึ้นบางส่วน หรือขึ้นเต็มแต่ไม่ได้ใช้งานเพราะขึ้นล้มเอียงเข้าหาลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม มักถูกถอนออกไป ซึ่งการถอน การถอนฟันคุดนั้น มีทั้งแบบถอนออกด้วยวิธีปกติ และการผ่าตัด การผ่าตัดมักทำในฟันคุดที่ขึ้นบางส่วนพร้อมทั้งล้มเอียง ยากแก่การดึงออกทั้งซี่ ทันตแพทย์จะทำการกรอแบ่งฟันออกเป็นชิ้นเล็กๆก่อนที่จะ ค่อยๆหยิบฟันแต่ละชิ้นออกมา การกรอแบ่งฟันทำเพื่อให้ดึงฟันออกง่าย ไม่กระทบกระเทือนต่อฟันซี่ใกล้เคียง ทำให้การรักษาสำเร็จรวดเร็ว ลดการบวมหรือชอกช้ำของเหงือกบริเวณที่ถอนฟันคุดนั้น

    ฟันกรามซี่ที่อยู่่ในสุด หรือฟันกรามใหญ่ซี่ที่3 มักไม่ขึ้นในช่องปาก เนื้อจากเป็นฟันซี่สุดท้ายที่ขึ้นมาในบางครั้งพบว่าขนาดของซี่ฟันใหญ่กว่าช่องที่เหลืออยู่ ทำให้ฟันกรามซี่นี้ขึ้นได้บางส่วน หรือขึ้นไม่ได้เลย หากขึ้นได้บางส่วน และมักเอียงชนฟันกรามซี่หน้า ทำให้มีการผุ กร่อน มีกลิ่นปากจากเศษอาหารติดหมักหมมตรงซอกฟัน และนำไปถึงอาการฟันข้างเคียงโยก ปวด บวม อักเสบ ตั้งแต่ปานกลางจนถึงรุนแรง ในบางกรณีพบว่าเนื้องอกและถุงน้ำมีการเกิดร่วมกับฟันคุดได้ด้วย

    ปัญหาฟันคุดที่กวนใจหลายๆคน ทำไมเราถึงต้องถอนฟันคุดกัน

    ผลที่เกิดจากฟันคุดและข้อบ่งชี้ในการถอน

    1. การอักเสบของเหงือกรอบฟันคุด (Pericoronitis)  เป็นผลของฟันคุดล่างที่พบได้บ่อยที่สุดเกิดกับฟันที่ขึ้นมาบางส่วน  การอักเสบหรือการติดเชื้อจะเกิดใน follicle ที่เหลือตกค้าง  (หุ้มตัวฟันคุด) ซึ่งอยู่ระหว่างฟันคุดกับกระดูกและเหงือกรอบ ๆ
    2. ฟันผุ  เศษอาหารมักติดในซอกระหว่างฟันคุดกับฟันข้างเคียง  ทำให้ฟันทั้งสองซี่ผุได้ง่าย  แม้จะอุดแล้วก็มีโอกาสผุอีก  การถอนฟันคุดออกจึงเป็นการป้องกันไม่ให้ฟัน second molar ผุ  (การอุดฟัน second molar จะอุดหลังจากถอนฟันคุดออกไปแล้ว เพื่อป้องกันวัสดุอุดแตกขณะถอนฟันคุด)
    3. เกิดถุงน้ำ ฟันคุดล่างจะเป็นฟันที่เกี่ยวข้องกับการเกิด dentigerous (follicular) cyst  บ่อยที่สุด  อาจไม่มีอาการปวด    พบโดยภาพถ่ายรังสี  กระดูกจะถูกทำลายไปเรื่อย ๆ พบการบวมหรือการขยายใหญ่ของกระดูกขากรรไกรได้  กรณีที่ถุงน้ำมีขนาดใหญ่อาจดันฟันคุดให้เคลื่อนห่างไปจากตำแหน่งเดิมได้มาก  เช่น ไปอยู่ใกล้ขอบล่างของขากรรไกรหรือบริเวณ ramus เป็นต้น
    4. อาการปวด  ฟันคุดอาจทำให้เกิดอาการปวดบริเวณที่มันอยู่  หรือปวดร้าวไปยังบริเวณอื่น  อาการปวดอาจเป็นผลจากการอักเสบของเหงือกรอบฟันคุด  ฟันผุ  รากฟันข้างเคียงละลาย  โรคปริทันต์ หรือพยาธิสภาพรอบรากฟัน หรือหาสาเหตุไม่ได้  คนไข้ทีมีอาการปวดบริเวณฟันคุดหรือปวดตื้อ ๆ บริเวณขมับหรือบริเวณใกล้เคียงโดยที่หาสาเหตุอื่นไม่พบ อาการปวดดังกล่าวอาจหายไปหลังจากถอนฟันคุดออก
    5. ฟันซ้อน  เชื่อว่าแรงดันจากฟันคุดจะทำให้ฟันหน้าล่างเกซ้อนได้  จึงแนะนำให้ถอนฟันคุดในคนไข้จัดฟันก่อนหรือหลังการจัดฟัน

    ข้อห้ามในการถอนฟันคุด

    1.            ในคนแก่ที่ฟันคุดฝังอยู่ในกระดูกลึก ๆ โดยไม่มีอาการ  ไม่มีพยาธิสภาพและไม่มีทางติดต่อกับช่องปาก

    2.            สุขภาพร่างกายของคนไข้ไม่ดี ไม่พร้อมที่จะรับการผ่าตัด

    3.            ฟันคุดที่อาจใช้เป็นฟันหลัก (abutment)  ได้ หรือกรณีที่อาจต้องถอนฟัน second molar แต่ต้องคำนึงถึงอายุและการเอียงตัวของฟันคุดได้

    สาระความรู้เกี่ยวกับข้อแนะนำการรักษาทางทันตกรรม

    การถอนฟัน

    1. หลังถอนฟันให้กัดผ้าก๊อซให้แน่น 1 ซ.ม. (1/2 ซ.ม. ถ้าเป็นการถอนฟันน้ำนม) อย่าพูดหรือเคี้ยวผ้าก๊อซเล่น
    2. หลังเอาผ้าก๊อซออก หากพบว่ายังมีเลือดออกจากแผลที่ถอนฟันให้วางผ้าก๊อซชิ้นใหม่ที่แผลถอนฟัน และกัดต่อให้แน่นอีก 1/2 ซ.ม.
    3. ไม่บ้วนน้ำลายหรือกลั้วปากแรงๆ ภายใน 24 ช.ม. หลังถอนฟัน ควรแปรงฟันให้สะอาดหลังอาหาร และก่อนนอน โดยระวังอย่าให้โดนบริเวณแผล
    4. ตลอดหนึ่งสัปดาห์หลังจากวันที่ถอนฟัน ให้อมน้ำเกลือบ้วนปากเบาๆ (ใช้เกลือป่น 1/2 ช้อนชาผสมน้ำอุ่น 1 แก้ว)
    5. รับประทานยาตามที่ทันตแพทย์แนะนำ :
    o ยาแก้ปวด รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด เมื่อมีอาการปวด
    o ยาปฏิชีวนะ (เฉพาะบางราย) ต้องรับประทานให้ครบจนยาหมด


    ศัลยกรรมในช่องปาก
    ในการผ่าตัดฟันคุด และศัลยกรรมในช่องปากอื่นๆ ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับข้อแนะนำหลังการถอนฟัน และมีข้อควรปฏิบัติเพิ่มเติม ดังนี้
    1. ในวันแรกหลังการผ่าตัด ควรประคบเย็นด้านนอกปาก บริเวณที่ใกล้แผลผ่าตัด โดยใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบ เพื่อช่วยลดอาการบวมที่จะเกิดขึ้น ไม่ควรอมน้ำแข็ง
    2. เริ่มประคบร้อนในวันที่ 2 โดยใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น่จัดบิดให้หมาด อาการบวมจะลดลงเป็นปกติภายใน 1 สัปดาห์
    3. งดการใช้งานของฟันด้านที่รับการผ่าตัดจนแผลหายดี งดการออกกำลังกายที่หักโหม และกีฬาทางน้ำ ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
    4. สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด ควรรับประทานอาหารอ่อน งดอาหารเผ็ด และร้อนจัด
    5. กลับไปพบทันตแพทย์ตามที่นัดหมาย (ประมาณ 1-2 สัปดาห์) เพื่อตัดไหม และตรวจดูความเรียบร้อยของแผลผ่าตัด

    6. การรักษาความสะอาด สำคัญมากต่อการหายของแผล

    – ควรใช้น้ำยาบ้วนปาก (ที่ทันตแพทย์ให้ไป เป็นน้ำยาบ้วนปากรักษาเฉพาะการรักษาหลังการถอนฟัน Difflam หรือ C20 ) บ้วนวันละ 2 ครั้ง เช้า – ค่ำ อมไว้ในปาก 1 นาที (ใช้ตามคำแนะนำข้างขวด ใช้จนกว่าน้ำยาจะหมด)

  • การเกลารากฟัน

    Date: 2013.06.13 | Category: ทันตกรรมปริทันต์, บทความทันตกรรม | Response: 0

    Root Planing

    ขั้นตอนการรักษาโรคเหงือก
    เมื่อทราบสาเหตุแล้วว่า โรคปริทันต์ ว่าเกี่ยวข้องกับการสะสมของคราบหินปูน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่การรักษาจะต้องมีการขูดหินปูน และเกลารากฟัน(root planing) ร่วม ด้วย คำว่าเกลารากฟันนี้อาจจะเป็นศัพท์ใหม่ ที่คนทั่วไปไม่ค่อยคุ้น แปลไทยเป็นไทยได้ว่า ทำผิวรากฟันให้เรียบ (เกลา = ทำให้เรียบ) คือการกำจัดคราบหินปูนและคราบเชื้อโรคที่เกาะบนรากฟันให้หมด จนได้ผิวรากฟันที่เรียบแข็ง ช่วยให้เหงือกกลับมายึดได้ดีขึ้น

    สาเหตุของโรคปริทันต์
    สาเหตุเบื้องต้น คือ เชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่มีอยู่ในช่องปากซึ่งเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนขึ้นใน สภาวะที่เหมาะสม กล่าวคือการมีคราบอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลที่เกาะบนผิวฟัน และจากการที่เราทำความสะอาดฟันไม่ดีพอ ทำให้คราบอาหารเหล่านี้กลายเป็นอาหารของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นแผ่กระจายไปบนผิวฟันที่เราเรียกกันว่า แผ่นคราบจุลินทรีย์ แบคทีเรียพวกนี้เมื่อมีการบริโภคอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลเข้าไปจะปล่อยกรด และสารพิษออกมา เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบ ผลคือทำให้เหงือกบวมแดงอักเสบและมีเลือดออก ทำให้เกิดการทำลายอวัยวะปริทันต์ แผ่นคราบจุลินทรีย์ไม่เพียงแต่จะมีแค่ส่วนตัวฟันที่อยู่เหนือขอบเหงือกเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในส่วนใต้ขอบเหงือกที่เรามองไม่เห็น ส่วนนี้เองที่ทำให้เกิดโรคปริทันต์ลงสู่กระดูกเบ้าฟัน ผลคือทำให้กระดูกเบ้าฟันละลาย ทำให้ล่องเหงือกลึกลงไปเรื่อยๆ ทำให้ฟันไม่ยึดติดกับเหงือกและก่อให้เกิดหนองในร่องปริทันต์ ทำให้รู้สึกเจ็บเหงือกและอาจมีอาการปวดเมื่อเคาะที่ตัวฟันและฟันโยกได้ ถ้าปล่อยทิ้งไว้เหงือกและกระดูกเบ้าฟันจะถูกทำลายลงเรื่อยๆจนในที่สุดก็อาจจะต้องสูญเสียฟันซี่นั้นไป เนื่องจากสูญเสียอวัยวะรอบฟันที่ช่วยในการยึดเกาะฟันไว้กับขากรรไกร
    อธิบายอีกนัยหนึ่ง คือ คราบเชื้อโรคเมื่อเกาะบนผิวฟันนานๆกลายเป็นคราบหินปูน เมื่อมีคราบหินปูนก็เป็นที่สะสมของคราบเชื้อโรคมากยิ่งขึ้น เมื่อคราบหินปูนและแบคที่เรียสะสมมากขึ้นและนานขึ้น จะเพิ่มปริมาณลึกลงไปใต้ขอบเหงือกทำให้การอักเสบลุกลามลงไปยังอวัยวะปริทันต์ทั้งหมด จึงเกิดการทำลายอวัยวะปริทันต์ตามมา

    หินปูนตามซอกฟัน

    ขั้นตอนการรักษาโรคเหงือก

    1. การรักษาจะต้องมีการขูดหินปูน และเกลารากฟัน (root planing) ร่วมด้วย โดยจะขูดหินปูนทั้นบนตัวฟันและส่วนที่อยู่บนผิวรากฟันภายในร่องปริทันต์ ส่วนการเกลารากฟันคือการทำให้ผิวรากฟันเรียบเพื่อให้เนื้อเยื่อเหงือกสามารถกลับมายึดแน่นติดกับผิวฟันได้เหมือนเดิม ซึ่งขั้นตอนนี้จะต้องทำซ้ำหลายๆ ครั้ง และมักจะแบ่งทำทีละส่วนของช่องปาก สามารถแบ่งทำเป็น 4 ส่วน (quadrant) หรือ 6 ส่วน (sextant) ก็ได้ แล้วแต่ทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาพิจารณาตามความเหมาะสม

    2. หลังจากรักษาเสร็จแล้วประมาณ 4-6 สัปดาห์ ทันตแพทย์จะเรียกกลับมาดูอาการอีกครั้งว่า หายดีหรือไม่ ถ้ายังมีร่องลึกปริทันต์เหลืออยู่หรือมีการละลายของกระดูกไปมาก อาจจำเป็นต้องใช้วิธีผ่าตัดเหงือก (ศัลย์ปริทันต์ : Periodontal Surgery) ร่วมด้วย

    3. ท่านจะต้องทำความสะอาดฟันและซอกฟันอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอด้วยตนเอง อย่างน้อยจะต้องใช้แปรงและไหมขัดฟันทุกวัน เพื่อที่จะกำจัดคราบจุลินทรีย์ให้หมดทุกวัน

    4. ไปพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจดูว่ามีคราบจุลินทรีย์และหินปูนหลงเหลือจากการทำความสะอาดเองหรือไม่ เพื่อที่จะได้รับการรักษาในระยะแรก

    หากในคนไข้ที่เป็นโรคเหงือกมากๆ ก็อาจจำเป็นต้องพบทันตแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการเกลารากฟัน เพื่อขจัดคราบจุลินทรีย์ และหินปูนที่บริเวณตัวฟัน และผิวรากฟัน การขูดเหงือกเป็นการกำจัดเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อที่ช่องเหงือก การขูดหินปูน และการขูดเหงือกเป็นการใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปากอย่างจริง ก็จะเพียงพอต่อการควบคุมโรค แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

    สำหรับคนไข้ที่เป็นโรคเหงือกมาก ๆ การขูดหินปูนและการขูดเหงือก อาจจะไม่ได้ผล ซึ่งในลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะแนะนำให้ทำการผ่าตัด ซึ่งระหว่างการผ่าตัดนี้ แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดจะทำการยกเหงือกเพื่อที่จะดูการลุกลามไปที่รากหรือกระดูก คราบจุลินทรีย์และหินปูนที่ได้ทำการขจัดออกจากบริเวณและจากกระดูกฟัน จากนั้นนำเหงือกกลับสู่ตำแหน่งที่เหมาะสมที่เหมาะแก่การทำความสะอาดหลังการรักษา

    เมื่อมีการเปิดเหงือก และกระดูกมีการสูญเสียไป บางครั้งคนไข้ต้องรักษาโดยการปลูกกระดูก ซึ่งการปลูกกระดูกนี้เป็นการสร้างกระดูกจากไขกระดูกในปากของเราเอง หรือจากกระดูกเทียม ซึ่งในขั้นตอนนี้ จะทำการนัดคนไข้ ประมาณ 2-3 ครั้ง แต่ในบางกรรีก็สามารถเสร็จได้ภายในครั้งเดียว ในโรงพยาบาลหรือคลินิกที่มีอุปกรณ์

  • การผ่าตัดตกแต่งเหงือก

    Date: 2013.06.13 | Category: ทันตกรรมปริทันต์, บทความทันตกรรม | Response: 0

    Crown Lengthening

    Crown Lengthening

    ศัลยกรรมเหงือกเพื่อเพิ่มความยาวของฟัน
    การ ผ่าตัดเหงือกเพื่อเพิ่มความยาวของฟัน โดยปกติจะทำกับฟันหน้า การเพิ่มความสูงของตัวฟัน เพื่อเพิ่มความสวยงามให้กับฟันที่เข้ารับการทำครอบฟันหรือเคลือบผิวฟันเพื่อความสวยงาม ไม่ยากไม่นานค่ะ (แต่ส่วนใหญ่ต้องฉีดยาชาก่อนนะคะ) ใช้เวลาแค่1 ชั่วโมง สามารถทำศัลยกรรมได้ง่ายมากค่ะ กลับบ้านได้เลยไม่ต้องพักต่อที่คลินิกค่ะ

  • ทันตกรรมบดเคี้ยว

    Date: 2013.06.11 | Category: ทันตกรรมบดเคี้ยว, บทความทันตกรรม | Response: 0

    ทันตกรรมบดเคี้ยว


    ทันตกรรมบดเคี้ยว Occlusion


    Splint

    นอกจากเรื่องเหงือกและฟันแล้วกล้ามเนื้อบดเคี้ยวและข้อต่อขากรรไกรของท่านก็มีความสำคัญอย่างยิ่งในบางครั้งบางคนมีการนอนกัดฟัน ซึ่งสามารถทำให้ฟันสึก ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อขากรรไกรได้ หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีปัญหาดังกล่าว โปรดปรึกษาแพทย์เฉพาะทางของเรา

    การนอนกัดฟัน เป็น อาการหนึ่งของผู้ที่มีความผิดปกติด้านการบดเคี้ยวหรือมีปัญหาการทำงานของขากรรไกร นอกจากจะมีปัญหากับคนที่นอนข้างๆ หรือเพื่อนร่วมห้องแล้วการนอนกัดฟันยังก่อให้เกิดปัญหากับตัวเองด้วย ปัญหาดังกล่าวได้แก่ อาการฟันสึก ในบางรายมีอาการฟันสึกจนถึงชั้นเนื้อฟัน เห็นเนื้อฟันสีเหลืองเข้มและมีอาการเสียวฟันเวลาที่ดื่มน้ำร้อน หรือ น้ำเย็น

    นอกจากอาการฟันสึกแล้วยังมีอาการปวดที่บริเวณข้อต่อกระดูกขากรรไกรซึ่งอยู่หน้ารูหูในเวลาที่ตื่นนอนตอนเช้าจะรู้สึกเจ็บปวดที่บริเวณข้อต่อขากรรไกร หรือเวลาที่บดเคี้ยวอาหารก็จะรู้สึกเจ็บปวดได้

    สาเหตุของการนอนกัดฟัน (Bruxism)

    การนอนกัดฟัน

    น่าจะเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ

    1. จากสภาพฟัน อาจมีจุดสูงที่อยู่บนตัวฟันที่อาจเกิดจากวัสดุอุดฟัน มีการเรียงกันของฟันที่ผิดปกติ ฟันซ้อนเกหรือเป็นโรคปริทันต์ หรือในคนไข้ที่สูญเสียฟันแท้ไปโดยที่ไม่ได้ใส่ฟันปลอมทดแทนซึ่งถ้าว่าจุดสูงหรือจุดขัดขวางการบดเคี้ยว โดยธรรมชาติของคนเราจะพยายามกำจัดจุดสูงหรือจุดขัดขวางการบดเคี้ยวโดยพยายามบดเคี้ยวให้จุดสูงนั้นหมดไป มักจะเกิดในเวลาที่เรานอนหลับซึ่งเป็นเวลาที่เราไม่รู้สึกตัว

    2. สภาพของจิตใจ การดำเนินชีวิตประจำวันอาจมีความเครียด เนื่องจากความเร่งรีบในการทำงานก็เป็นสาเหตุที่ให้เรานอนกัดฟันในเวลานอนโดยเราไม่รู้สึกตัวได้

    วิธีการแก้ไขอาการนอนกัดฟัน

    ไปพบทันตแพทย์เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขอาการนอนกัดฟัน ได้แก่ การกรอปรับสบฟันให้อยู่ในสภาวะปกติ โดยส่วนใหญ่แล้วทันตแพทย์จะแนะนำให้ใส่ Splint หรือเฝือกสบฟันเพื่อลดการสึกของฟัน Splint นั้นมีลักษณะเป็นอะครีลิคใส แข็ง ใสในฟันบน หรือฟันล่าง ใส่เฉพาะในเวลานอนตอนกลางคืนเท่านั้นและในเวลาที่เราใส่ Splint หรือเฝือกสบฟันนั้น ทันตแพทย์จะนัดมาตรวจเป็นระยะๆ