Posts Tagged ‘ถอนฟันคุด’

  • การจัดฟัน

    Date: 2013.08.01 | Category: FAQ | Response: 0

    การถอนฟันเพื่อการจัดฟัน

    Q : การจัดฟันต้องมีการถอนฟันทุกครั้งหรือไม่?

    A : โดยทั่วไปแล้ว การจัดฟันจำเป็นต้องมีการเคลื่อนตัวของฟัน หากในช่องปากไม่มีเนื้อที่พอให้ฟันเคลื่อนที่ไปได้ เช่นในกรณีฟันซ้อนเบียดตัวกัน ก็จำเป็นจะต้องมีการเพิ่มเนื้อที่เพื่อให้ฟันสามารถเคลื่อนที่ไปได้ ซึ่งอาจใช้การถอนฟัน หรืออาจเป็นการกรอลดขนาดของฟันลงเล็กน้อยก็ได้ แต่หากในช่องปากมีเนื้อที่มากพออยู่แล้ว เช่น เคยมีการถอนฟันไปแล้ว หรือฟันห่างอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องถอนฟันออกก็เป็นได้

    Q : แล้วถ้ามีฟันคุดล่ะ ต้องเอาออกก่อนจะจัดฟันด้วยหรือไม่ หรือว่าเอาออกทีหลังได้ ?

    A : ฟันคุด เป็นฟันที่ทันตแพทย์ไม่แนะนำให้เก็บเอาไว้อยู่แล้ว ดังนั้น ถึงแม้ไม่ได้จัดฟัน ก็แนะนำให้เอาฟันคุดออก ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลรักษาสุขภาพช่องปาก แต่ความจำเป็นที่จะเอาฟันคุดออกก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ สภาพฟันและเหงือก ฯลฯ ซึ่งทันตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเป็นรายๆ ไป

    การดูแลรักษาสุขภาพช่องปากในคนที่มีเครื่องมือจัดฟันอยู่จะยุ่งยากกว่าปกติที่ไม่มีเครื่องมือ ดังนั้น หากพบว่ามีฟันคุดที่ยากต่อการดูแลทำความสะอาด ก็มักจะได้รับคำแนะนำให้เอาออก ทั้งนี้ มิใช่เพื่อการจัดฟัน แต่เพื่อการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากที่ดีขึ้นนั่นเอง แต่หากพบว่า ฟันคุดนั้นๆ มีทิศทางการงอกที่จะดันฟันที่เหลืออยู่ให้เคลื่อนที่ไป การเอาฟันคุดออกก่อน หรืออย่างน้อย ระหว่าง การจัดฟัน ก็น่าจะเป็นสิ่งที่พึงกระทำ เพราะหากไม่เอาฟันคุดออก หลังจัดฟันเรียบร้อย ก็มีโอกาสฟันเคลื่อนตัวไปจากตำแหน่งที่ต้องการ เกิดปัญหาฟันบิด ซ้อนเกกลับมาอีกได้ ทำให้ต้องกลับมาจัดฟันกันใหม่อีกรอบ ซึ่งการรักษาก็อาจยุ่งยากซับซ้อนขึ้นกว่าเก่า แต่ทั้งนี้ การใส่เครื่องมือคงสภาพฟัน (Retainers)

    ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะช่วยให้ฟันอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการได้ แม้จะยังคงมีฟันคุด ก็จะช่วยให้การกลับไปซ้อนเก เกิดขึ้นได้ยากขึ้น แต่ในที่สุดแล้ว ก็แนะนำให้เอาฟันคุดออก หากทิศทางของฟันคุดนั้น มีโอกาสจะดันฟันอื่นๆ ให้เคลื่อนได้

    Q :    อะไรทำให้ฟันเรียงตัวไม่ดี ?

    A :   โดยธรรมชาติแล้ว ฟันคนเราจะงอกขึ้นมาในช่องปากด้วยแรงที่มีอยู่ตามธรรมชาติของหน่อฟัน หากมีสิ่งกีดขวางการงอก ฟันก็จะงอกในตำแหน่งที่ธรรมชาติกำหนดไว้ไม่ได้ แต่จะพยายามหาทางเบี่ยงตัวเองออกไปด้านข้างเคียง เพื่อที่จะงอกขึ้นมาในช่องปากให้ได้

    โดยทั่วไปแล้ว ฟันแท้ส่วนมากมักจะงอกขึ้นมาแทนที่ฟันน้ำนม ซึ่งรากของฟันน้ำนมจะละลายไป เนื่องจากถูกแรงดันขณะที่ฟันแท้งอกขึ้นมา ทำให้ฟันน้ำนมโยก และหลุดออกมาได้เองในที่สุด หากฟันน้ำนมไม่หลุด ฟันแท้ก็จะงอกซ้อนฟันน้ำนม อาจเป็นเหตุให้เกิดฟันซ้อนเกได้ในอนาคต

    ในคนที่สูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนเวลาอันควร เช่น ฟันผุมากจนต้องถอนออก ฟันแท้ข้างใต้จะไม่มีแนวทางให้ฟันขึ้น ก็อาจนำไปสู่การบิดเก หรืองอกไม่ตรงแนวได้ ส่วนฟันที่อยู่ข้างเคียงก็อาจงอกเอียงเข้ามา ทำให้เนื้อที่สำหรับฟันแท้แคบลง ที่ไม่พอให้ฟันขึ้น ก็ทำให้ฟันแท้งอกบิด ซ้อนเก วิธีป้องกัน ก็คือ ควรใส่เครื่องมือกันที่

    (Space Maintainer) เพื่อป้องกันฟันล้ม รอจนกระทั่งใกล้เวลาฟันแท้งอก ค่อยถอดเครื่องมือออก